โอ่งมังกร"ราชบุรี"ยังคงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเหลือแค่ตำนาน
"โอ่งมังกร"สัญญาลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดราชบุรี ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านที่คนราชบุรีภาคภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคำขวัญ"เมืองโอ่งมังกร"
ตั้งแต่ตอนเราเด็กๆยังจำได้ว่า มีโอ่งมังกรไว้รองรับน้ำฝนกันทุกบ้าน บางบ้านใช้ใบเล็กเก็บข้าวสาร เป็นไหน้ำปลา หรือไหดองผัก ถือเป็นภาชนะหลักในการเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม หรือน้ำใช้ ในห้องน้ำบ้านเราเราก็มีโอ่งน้ำไว้ตักอาบ ยังไม่มีฝักบัว หรือถังพลาสติกเหมือนในปัจจุบัน
"โอ่งมังกร"อุตสาหกรรมพื้นบ้านที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดราชบุรี
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านว่าสมัยก่อนโอ่งที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดี ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งนั้น แต่เนื่อจากภาวะสงครามโลกคร้งที่ 2 เป็นต้นมา สินค้าจากต่างประเทศหลายอย่างไม่สามารถนำเข้าประเทศได้จึงจำเป็นต้องผลิตกันเอง
และถ้าย้อนอดีต จากคำบอกเล่าของลูกหลาน ทายาทเจ้าของโรงโอ่ง ตั้งแต่ พ.ศ.2476 นายซ่งฮง แซ่เตีย และนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง สองสหายที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาที่เมืองป้งโคย ประเทศจีน อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้มาพบแหล่งดิน ที่จ.ราชบุรี และเห็นว่าเป็นดินที่ใช้ในการปั้นโอ่งได้ จึงเป็นที่มาของโรงโอ่ง"เถ้าแซไถ่" และโรงโอ่ง"เถ้าฮงไถ่"ผลิตโอ่งลายมังกรในเวลาต่อมา
"โอ่งราชบุรี ทำไมต้องมีลายมังกร"
แต่เดิมที่ทำกันเป็นโอ่งที่ไม่มีลวดลายใดๆ เรียกว่า "โอ่งเลี่ยน" จากการที่ต้นกำเนิดโอ่งมาจากชายจีน 2 ท่านดังกล่าว เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วลูกหลานจึงได้คัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคลขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากการพัฒนาคิดหาความงดงามเพียงอย่างเดียว แน่นอน ในที่สุดก็เลือกสรรลวดลาย"มังกร"ขึ้น ตามคติความเชื่อในวัฒนธรรมของจีน
มังกร(Dragon) เป็นสัตว์ชั้นสูง ในแต่ละประเทศก็จะมีตำนานของตัวเอง แล้วแต่ความเชื่อบ้านเราเรียกว่า "พญานาค" จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็คงเป็นที่รูปร่าง หน้าตา ชื่อ และความเชื่อ มีหนังสือตำราพิชัยสงครามกล่าวถึง มังกร ในการจัดขบวนทัพข้ามน้ำเรียกว่า "มังกรพยุหะ" มีการเขียนรูปมังกร คล้ายพญานาค เพียงแต่เพิ่มเขาและเท้าเข้าไป บางตัวมีเกล็ด บางตัวมีลายแบบงู
ลักษณะของมังกร
โดยทั่วไปในลวดลายของโอ่งลายมังกร จะมีเพียง 3 เล็บ หรือ 4 เล็บ แต่ถ้าเป็นมังกร สัญญลักษณ์ชั้นสูง ของกษัตริย์ หรือ ฮองเต้ จะมี 5 เล็บ
เมื่อกล่าวถึง"มังกร"ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เป็นมงคล เป็นความยิ่งใหญ่ จึงได้มีการวาดโอ่งลวดลายมังกร เพื่อเป็นศิริมงคล ความชื่นชมชื่นชอบของผู้ใช้
แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดาย โลกเปลี่ยนแปลงไป ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น นำความเจริญของวัตถุนิยม ทุนนิยม ความไม่สะดวก หรือ จะเชยล้าสมัย ตามคำกล่าวอ้าง จะมีซักกี่บ้านกี่เรือนในปัจจุบันที่ยังนิยมใช้โอ่งลายมังกร ไว้เป็นภาชนะเก็บกักน้ำ แม้ว่าลูกหลาน ทายาทของผู้เฒ่าจีนเหล่านั้น พยายามเปลี่ยนแปลง พัฒนา รูปแบบ จากดินเผา เป็นเซรามิคซึ่งยังคงลวดลายมังกรที่ยิ่งใหญ่เพื่อความอยู่รอดของโรงงานตามแนวบรรพบุรุษ
วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2551
ในหลวงกับเทคโนโลยี
พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม
ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหินซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคมเข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร
ในหลวงกับเทคโนโลยี
ทฤษฎี "แกล้งดิน" อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาสในปี พ.ศ. 2524 ทรงพบว่าหลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุเพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรและเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ปรากฎว่าดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย
การแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบนและมีระดับความลึก 1-2 เมตร เป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ ( pyrite : FeS 2 ) อยู่มาก ดังนั้น เมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ " แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ มีดังนี้
1. ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์
2. การปรับปรุงดิน มี 3 วิธีการ ตามสภาพของดินและความเหมาะสม คือ
- ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้นอีกทั้งสารละลายเหล็กและอลูมินั่มที่เป็นพิษเจือจางลงจนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดีโดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตก็สามารถให้ผลผลิตได้
- การใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน เช่น ปูนมาร์ล ปูนฝุ่นซึ่งปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน
- การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุดและใช้ได้ผลมากในพื้นที่ซึ่งดินเป็นกรดจัดรุนแรง และถูกปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน
3. การปรับสภาพพื้นที่ มีอยู่ 2 วิธี คือ
- การปรับระดับผิวหน้าดิน ด้วยวิธีการ คือ
ปรับระดับผิวหน้าดินให้มีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลไปสู่คลองระบายน้ำ ตกแต่งแปลงนาและคันนาใหม่ เพื่อให้เก็บกักน้ำและระบายน้ำออกไปได้
- การยกร่องปลูกพืช สำหรับพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ถ้าให้ได้ผลต้องมีแหล่งน้ำชลประทานเพื่อขังและถ่ายเทน้ำได้เมื่อน้ำในร่องเป็นกรดจัด การยกร่องปลูกพืชยืนต้นหรือไม้ผลต้องคำนึงถึงการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่นั้น หากมีโอกาสเสี่ยงสูงก็ไม่ควรทำ หรืออาจยกร่องแบบเตี้ย ๆ พืชที่ปลูกเปลี่ยนเป็นพืชล้มลุกหรือพืชผัก และควรปลูกเป็นพืชหมุนเวียนกับข้าวได้
ในหลวงกับเทคโนโลยี
พลังงานทดแทน
น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทดแทนน้ำมันดีเซล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนชาวไทย ทรงคิดพิจารณาหาหนทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขอยู่ตลอดเวลา ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของแหล่งพลังงานทดแทน ที่จะสามารถนำมาใช้งานภายในประเทศ หากเกิดวิกฤตการณ์ ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นในอนาคต
การนำน้ำมันที่สกัดจากพืชมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ก็เป็นโครงการในพระราชดำริอีกโครงการหนึ่ง โดยทรงให้ทดลอง นำน้ำมันปาล์มมาใช้กับ เครื่องยนต์ดีเซล เพราะปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ปลูก สูงกว่าพืชชนิดอื่นๆ และมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด ในกระบวนการผลิดน้ำมันพืชในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นผลผลิต ที่เกษตรสามารถผลิตขึ้นได้เองภายในประเทศ
การทดลองใช้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล เริ่มต้นลงมือกันตั้งแต่ เดือนกันยายน 2543 เป็นต้นมา โดยแนวความคิดจากสมมุติฐาน การออกแบบเครื่องยนต์ดีเซลต้นแบบเดิมที่ออกแบบสำหรับใช้กับน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีความไวไฟต่ำ เช่น น้ำมันพืชทั่วๆไป และหลักการทำงานพื้นฐานของ เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันก็ยังคงเดิมอยู่ หากแต่ว่าได้มีการพัฒนานำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมให้ ประสิทธิภาพ และสมรรถนะของเครื่องยนต์ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ในการทดลองนี้ได้ นำเอาน้ำมันปาล์มประเภทต่างๆ มาทดลองใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลประเภทต่างๆ ที่มีใช้อยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ ที่กำลังจะนำเข้ามาใช้ในอนาคต ทำการทดลองทั้งในห้องทดลอง
และในสภาพแวดล้อมการใช้งานปกติทั่วไป ซึ่งปรากฎว่า น้ำมันปาลม์กลั่นบริสุทธิ์ (R.B.D. Palm Olein) มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลมากที่สุด โดยไม่ต้องมีการปรับแต่ง หรือดัดแปลงเครื่องยนต์ แต่ประการใด ทั้งยังสามารถสลับเปลี่ยนหรือผสมกับน้ำมันดีเซลทั่วไป ได้ทันทีทุกอัตราส่วน ในด้านประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ ที่ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ก็ยังคงให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดของเครื่องยนต์ ตามที่ผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้ ทั้งแรงม้า (Power) แรงบิด (Torque) และรอบการทำงานของเครื่องยนต์ และจากการทดลองก็พบว่า ในเครื่องยนต์ดีเซลบางแบบ กลับให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าการใช้น้ำมันดีเซลธรรมดา หลังจากการทดลองประสบความสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงขอจดสิทธิบัตร ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพานิชย์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 ได้สิทธิบัตรเลขที่ 10764 ในชื่อ การใช้น้ำมันปาล์ม กลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
การนำน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ มาใช้แทนน้ำมันดีเซล ก็พบว่าน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า ปาล์มโอเลอีน ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร มาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลมีข้อดี ในส่วนที่เป็นน้ำมันสะอาด และมีความไวไฟต่ำทำให้สะดวกในการเก็บ เป็นสารชีวภาพที่สามารถย่อยสลายตัวได้ง่าย หากปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อม และจากการทดลองก็พบว่าไอเสียที่ปล่อยจากการสันดาปภายในเครื่องยนต์ มีคุณภาพดีกว่า น้ำมันดีเซล คือควันดำและเขม่าน้อยมาก ไม่มีกลิ่นฉุน และไม่มีสารซัลเฟอร์ อันเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และกัดกร่อนสร้างความเสียหาย แก่อุปกรณ์ในเครื่องยนต์ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติด้านการหล่อลื่นในตัวเอง ทำให้ช่วยลดการสึกหรอและเสียงรบกวนของเครื่องยนต์ ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานยืนยาวขึ้น อีกทั้งยังช่วย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ลดการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)